ฎีกา InTrend EP.22 แสดงเจตนาลวงว่าขายฝากที่ดินแต่จริง ๆ แค่ใช้เป็นประกันเงินกู้ ผลจะเป็นอย่างไร
COJ CHANNEL COJ CHANNEL
59.3K subscribers
25,316 views
922

 Published On Jun 10, 2021

ฎีกา InTrend Ep.22 แสดงเจตนาลวงว่าขายฝากที่ดินแต่จริง ๆ แค่ใช้เป็นประกันเงินกู้ ผลจะเป็นอย่างไร

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ

Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ

การทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ปกติแล้วหากทำแบบตรงไปตรงมาก็คงไม่มีปัญหาใด ๆ แต่หากทำแบบซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำอย่างหนึ่งแต่แสดงออกว่าทำอีกอย่างหนึ่งก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ กรณีในตอนนี้จะเป็นปัญหาที่ว่ากู้ยืมเงินกันแล้วต้องการจะเอาที่ดินเป็นประกัน แต่ไปจดทะเบียนไว้เป็นการขายฝากแทน สัญญาขายฝากนั้นจะมีผลอย่างไร
นายพลมีความเดือดร้อนเรื่องเงิน จึงได้ไปขอกู้เงินจากนางเพ็ญ 200,000 บาท โดยบอกว่ามีที่ดิน 56 ตารางวาของยายของนายพลเป็นประกัน นางเพ็ญจึงให้ไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของในโฉนดเป็นชื่อนายพลเสียก่อน นายพลจึงไปจดทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดินมาเป็นของตน นางเพ็ญนัดหมายให้นายพลไปพบที่สำนักงานที่ดินในวันรุ่งขึ้น เมื่อนายพลไปตามกำหนดนัด นางเพ็ญจึงให้นายพลจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายชัย สามีของนางเพ็ญ โดยระบุในสัญญาขายฝากว่าขายในราคา 400,000 บาท ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาสองปีตามสัญญาขายฝาก นายชัยจึงได้ยื่นฟ้องนายพลเป็นจำเลยขอให้ขับไล่นายพลออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว นายพลจึงต่อสู้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวความจริงแล้วมีเจตนาให้ไว้เป็นประกัน ไม่ได้มีเจตนาขายฝากกันจริง ๆ ดังนั้น ตนเองจึงไม่ต้องออกจากที่ดินแปลงนั้น
ในกรณีนี้ปรากฏด้วยว่านางเพ็ญมีธุรกิจเปิดร้านค้าแห่งหนึ่งชื่อร้านเพ็ญจันทร์ เอกสารฉบับหนึ่งที่เป็นของร้านเพ็ญจันทร์ มีรายละเอียดระบุว่าในวันที่วันเดียวกับที่มีการไปจดทะเบียนขายฝาก นายพลได้กู้ยืมเงินไปจากร้านเพ็ญจันทร์จำนวน 200,000 บาท โดยมีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดิน 56 ตารางวา และมีเอกสารการคำขอโอนเงินและใบนำฝากที่ระบุว่านายพลได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ร้านเพ็ญจันทร์
กรณีตามที่ปรากฏนี้หากเป็นการขายฝากที่ดินกันเป็นปกติจะถือว่าผู้ที่ขายฝากได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่ขายฝากให้เป็นของผู้ซื้อฝากแล้วตั้งแต่ตอนจดทะเบียน เพียงแต่ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนภายในกำหนด หากไม่ไถ่ถอนก็จะทำให้ผู้ซื้อฝากมีสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นเหตุผลที่นายชัยใช้ในการมาฟ้องขับไล่นายพลออกจากที่ดินแปลงนี้ เพราะอ้างว่าพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้วนายพลย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินแปลงนั้นอีก จึงต้องการขับไล่นายพลออกไป
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่เอกสารซึ่งระบุว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันระหว่างนายพลกับร้านเพ็ญจันทร์ที่เป็นของนางเพ็ญ โดยระบุวันที่กู้ยืมเงินเป็นวันที่เดียวกันกับที่มีการจดทะเบียนขายฝาก และมีการโอนเงินชำระหนี้กันต่อมาด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน หากมีการทำสัญญาทั้งขายฝากและกู้ยืมเงินไปพร้อม ๆ กันในวันเดียวกันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อขายฝากได้เงินไปแล้ว 400,000 บาท ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องมากู้ยืมเงินกันอีกในวันเดียวกัน แถมทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันยังระบุว่าเป็นที่ดิน 56 ตารางวาแปลงเดียวกันอีก การที่นายพลไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวจากยายของตนก็ทำเพียงหนึ่งวันก่อนจะมาทำสัญญากับนางเพ็ญและสามี ทำให้เห็นได้ว่าไปจดทะเบียนโอนมาเพื่อใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินตามที่นายพลอ้างไว้ จึงแสดงให้เห็นว่าการขายฝากไม่ใช่นิติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์จะทำกันจริง ๆ แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงการกู้ยืมเงิน โดยจะใช้ที่ดินเป็นประกันเท่านั้น
การทำนิติกรรมกันในลักษณะนี้ที่มีการทำนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งในที่นี้คือสัญญาขายฝาก แต่ความจริงแล้วคู่สัญญามีเจตนาเพียงให้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น มีผลทำให้นิติกรรมที่แสดงออกมานี้เป็นการ “แสดงเจตนาลวง” อันมีผลทำให้นิติกรรมที่เป็นการแสดงเจตนาลวงนี้กลายเป็นโมฆะซึ่งไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
ปัญหาประการหนึ่งที่นายชัยยกขึ้นต่อสู้คือ นายพลไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือของสัญญากู้ยืมมาแสดง อีกทั้งคู่สัญญาในสัญญาขายฝากกับสัญญากู้ยืมเป็นคนละคู่สัญญากัน
การที่สัญญากู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือกันหรือไม่คงเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัญหาโดยตรงในคดีนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายชัยพยายามจะใช้สัญญาขายฝากเป็นเครื่องมือ ไม่ได้มีปัญหาที่จะบังคับกันตามสัญญากู้ยืมโดยตรง
ส่วนการที่คู่สัญญาเป็นคนละคนกันก็คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาขายฝากเป็นการแสดงเจตนาลวงที่ตกเป็นโมฆะ เพราะสัญญาที่มีการอำพรางกันไว้จะเป็นสัญญาอะไรและทำกันระหว่างใครนั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน ที่หากมีการทำสัญญาไว้เป็นสัญญาอะไรก็ต้องไปว่ากันในเรื่องนั้นในระหว่างผู้ที่เป็นคู่สัญญาที่แท้จริง
เมื่อสัญญาขายฝากที่นายชัยนำมาอ้างในการฟ้องขับไล่เป็นการแสดงเจตนาลวงที่เป็นโมฆะไปแล้ว ผลจึงเท่ากับว่านายพลยังเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ นายชัยจึงไม่มีสิทธิมาฟ้องขับไล่นายพลออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวได้
การทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ก็แล้วแต่ก็ควรทำกันอย่างตรงไปมา หากมีการทำลวงเป็นนิติกรรมแบบหนึ่งทั้ง ๆ ที่เจตนาจริง ๆ ต้องการทำนิติกรรมอีกประเภทหนึ่งย่อมจะมีผลทำให้นิติกรรมที่แสดงเจตนาลวงออกมาตกเป็นโมฆะไปเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนิติกรรมลวงเพื่อมุ่งเอาเปรียบอีกฝ่ายเช่นกรณีนี้ที่กู้ยืมกันไปเพียงสองแสน แต่ไปทำขายฝากไว้ถึงสี่แสน ผู้ที่ทำไปโดยเจตนาลวงแบบนี้ก็คงต้องยอมรับผลทางกฎหมายที่จะเกิดตามมาด้วย
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7039/2562)

show more

Share/Embed