การแสดงชุด “นางนิลบรรพตเทพสุดาประทานพร”
The Biggest The Biggest
501 subscribers
2,747 views
57

 Published On Mar 31, 2023

การแสดงชุด “นางนิลบรรพตเทพสุดาประทานพร”

การแสดงชุดนี้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์รำเดี่ยวมาตรฐานตัวนางชุดหนึ่ง ซึ่งออกแบบและประดิษฐ์ท่ารำโดย นางสาวเสาวรักษ์ ยมะคุปต์ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทโองการไหว้ครูช่าง ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณอินทราชัย ซึ่งประทานให้โรงเรียนเพาะช่างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ เพื่อใช้เป็นตำราไหว้ครูช่างแบบโบราณ โดยในบทโองการไหว้ครูช่างฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึง “นางนิลบรรพตเทพสุดา” ภาคหนึ่งของพระวิษณุกรรมอันเป็นครูช่างภาคสตรี ดูแลงานเย็บปักถักร้อยของช่างสตรีและเป็นเทวีแห่งการค้าขาย ความว่า

“อนึ่งไซร้ข้าขอเคารพ นบนางนามปรากฏ นิลบรรพตเทพสุดา กวักมาซึ่งสุวรรณรัตน์ สรรพสมบัติโอฬาร จงแจ้งการพิธี มารับพลีทั้งหลายไซร้ แลจงให้ พระศรีสวัสดิ์ ปัดสรรพภัยทุกประการ นำศฤคารโภคา ทั่วสิ่งมาเพิ่มพูน ประมูลมากธนสาร “ (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ๒๕๖๐: ๒๐๕)

​เนื้อหาของการเเสดงชุดนี้ กล่าวถึงพระวิษณุกรรม ได้แบ่งภาคลงมาจุติเป็นนางนิลบรรพตเทพสุดาเพื่อเป็นครูช่างฝ่ายสตรีดูแลงานเย็บปักถักร้อยของสตรีและเป็นเทวีแห่งการค้าขาย ครั้นนางได้แจ้งการมงคลพิธี จึงแต่งองค์ทรงทิพย์อาภรณ์อย่างสวยงามเพื่อเสด็จลงมารับการพลีกรรมและประทานพรให้กับบรรดาช่างฝ่ายสตรีให้มีความเจริญในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมเย็บปักถักร้อย พร้อมทั้งอำนวยพรให้อุดมด้วยธนสารทรัพย์สมบัติ
​ การออกแบบลีลาท่ารำนั้น นางสาวเสาวรักษ์ ยมะคุปต์ ได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ โดยยึดแนวทางการประดิษฐ์ท่ารำจากกระบวนท่ารำเพลงช้าเพลงเร็ว รำแม่บทใหญ่และเพลงหน้าพาทย์ของตัวนาง ทั้งยังได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นท่าที่สื่อความหมายถึง “พระวิษณุกรรม” โดยเฉพาะซึ่งยังไม่เคยปรากฏในการแสดงชุดใดมาก่อน นอกจากนี้ยังได้นำกระบวนท่ารำเพลงหน้าพาทย์ของคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) อดีตผู้ควบคุมหมวดนาฏศิลป กรมศิลปากร มาใช้ในการประดิษฐ์ท่ารำชุดนี้ทั้งหมด ๒ เพลง ได้แก่ ๑) เพลงนางเดิน และ ๒) เพลงตระพระวิษณุกรรม โดยกระบวนท่ารำในเพลงตระพระวิษณุกรรมนี้ แต่เดิมเป็นกระบวนท่ารำของตัวพระเท่านั้น แต่ด้วยนางนิลบรรพตเทพสุดาเป็นภาคหนึ่งของพระวิษณุกรรมที่เป็นสตรี ด้วยเหตุนี้จึงมีปรับท่ารำการใช้เท้าบางท่าให้เป็นท่ารำการใช้เท้าของตัวนาง เพื่อให้สอดคล้องและมีความเหมาะสมกับตัวละครนางมากยิ่งขึ้น ส่วนกระบวนท่ารำร่ายที่ปรากฏในเพลงรัว ท้ายเพลงตระพระวิษณุกรรมนี้ ถือเป็นท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งปรากฏในรำเพลงหน้าพาทย์ฉบับคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) เท่านั้น
​เครื่องแต่งกายของการแสดงชุดนี้ ผู้เเสดงแต่งกายด้วยชุดยืนเครื่องตัวนาง โดยใช้ผ้าห่มนางสีขาวขลิบเหลือง นุ่งผ้ายกสีขาวและใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ตามรูปแบบการแต่งกายชุดยืนเครื่องตัวนางของกรมศิลปากร สวมศิราภรณ์กะบังหน้าดอกไม้ประดิษฐ์ สวมมาลัยตัวดอกพุดห้อยอุบะไทยทรงเครื่องและกำหนดให้ตัวละครถือเครื่องแขวนขนาดย่อมในท่ารำเพลงตระพระวิษณุกรรมเพื่อสื่อความหมายถึงการเป็นครูช่างฝ่ายสตรีแทนการถือลูกดิ่งของพระวิษณุกรรม ซึ่งการนำดอกไม้ประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้เป็นในการออกแบบเครื่องแต่งกายและการออกแบบอุปกรณ์การแสดงนี้ ถือเป็นการสื่อความหมายให้เห็นภาพการเป็นครูช่างดอกไม้ของตัวละครและส่งผลให้เกิดความชัดเจนและเกิดบูรณภาพกับสายตาของผู้ชมได้ดีมากยิ่งขึ้น ​​
​ การออกแบบบทการแสดงและเพลงที่ใช้บรรจุในการแสดงชุดนี้ ดร. ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นผู้ประพันธ์บทและบรรจุเพลงขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยศึกษาข้อมูลจากบทโองการไหว้ครูช่าง ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณอินทราชัยและการสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การบรรจุเพลงนั้น มีบรรจุเพลงทั้งสิ้น ๕ เพลง ซึ่งสามารถอธิบายความหมายของเพลงที่บรรจุได้ดังนี้ ๑) ปี่พาทย์ทำเพลงนางเดิน - เพลงลา หมายถึงการเดินทางมาถึงยังวิมานอย่างสง่างามของนางนิลบรรพตเทพสุดา ๒) ร้องเพลงเวสสุกรรม บรรจุในบทประพันธ์ที่บรรยายถึงการแบ่งภาคของพระวิษณุกรรมลงมาเป็นครูช่าง ฝ่ายสตรี ๓) ร้องร่าย บรรจุในบทประพันธ์ที่บรรยายถึง นางนิลบรรพตเทพสุดาได้แจ้งการมงคลพิธี นางจึงแต่งองค์ทรงทิพย์อาภรณ์อย่างสวยงามเพื่อเสด็จลงมารับเครื่องพลี ๔) ร้องเพลงนาคบริพัตร บรรจุในบทประพันธ์ที่บรรยายถึงการชมโฉมนางนิลบรรพตเทพสุดา ๕) ร้องเพลงกระบองกัน บรรจุในบทประพันธ์ที่บรรยายถึงการประทานพรของนางนิลบรรพตเทพสุดา และ ๖) ปี่พาทย์ทำเพลงตระพระวิษณุกรรม, รัว หมายถึงการประทานพรของนางนิลบรรพตเทพสุดา
​การแสดงชุด “นางนิลบรรพตเทพสุดาประทานพร” นำออกแสดงและเผยแพร่ครั้งแรกในงานเสวนาทางวิชาการ “ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย” ในหัวข้อ “ความเชื่อเรื่องผีในสังคีตศิลป์ไทย” จัดโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อวันศุกร์ ที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ

รายการอ้างอิง
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยประติมา. นนทบุรี: บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.

ภาพเคลื่อนไหว : เพจกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

show more

Share/Embed